danger-shock-worn-out_Cover
Tip & Tricks

โช๊คเสื่อมสภาพ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม!

 
    โช๊คอัพ เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญในระบบกันสะเทือนของรถจักรยานยนต์ โดยมีหน้าที่ช่วยซับแรงกระแทกรวมไปถึง ช่วยชะลอการคืนตัวของสปริงหลังจากการยุบตัว หลังจากรับแรงกดจากการขับขี่ หรือจากผลกระทบของสภาพถนนทั้งจากล้อหน้าและล้อหลัง ทำให้การขับขี่มีความนุ่มนวลและช่วยให้เลี้ยวเข้าโค้งได้ดีขึ้น ดังนั้นโช๊คอัพ จึงเป็นชิ้นส่วนที่ไบเกอร์ต้องคอยดูแลรักษาตามระยะการใช้งาน เพราะมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้โช๊คอัพเกิดการรั่วซึมหรือโช๊คเสื่อมสภาพได้ วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันว่าโช๊คอัพเสื่อมสภาพ อาการเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไรและมีวิธีตรวจเช็กอย่างไรบ้าง?
 
 

โช๊คอัพเสื่อมสภาพ มีอาการอย่างไร

    หน้าที่หลักของโช๊คอัพคือรองรับการกระแทกรวมถึงช่วยชะลอการคืนตัวของสปริงหลังจากการยุบตัวช่วยเพิ่มความนุ่มนวลขณะขับขี่และช่วยเรื่องการทรงตัว การเข้าโค้ง 

    สำหรับปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโช๊คอัพหลักๆ คือ โช๊คอัพรั่ว ซึ่งหมายถึงการที่น้ำมันรั่วออกมาจากซีลโช๊ค ทำให้โช๊คอัพสูญเสียความสามารถในการหน่วงไป โดยสามารถสังเกตอาการโช๊คเสีย ของมอเตอร์ไซค์ได้ดังนี้

  1. ขณะขับขี่บนเส้นทางขรุขระจะมีเสียงดังและสัมผัสได้ว่ามีการกระแทกที่รุนแรงมากขึ้น ไม่นุ่มนวล เกิดจากการที่โช๊คอัพคืนตัวเร็วกว่าปกติ

  2. รถมอเตอร์ไซค์มีอาการแกว่ง ทรงตัวได้ไม่ดีหรือควบคุมไม่อยู่ในระหว่างการเข้าโค้ง

  3. ทดสอบด้วยการใช้น้ำหนักตัวกดบริเวณโช๊คอัพแล้วปล่อยให้เด้ง ถ้าเด้งขึ้นๆ ลงๆ เร็วๆ แสดงว่า โช๊คอัพเสีย

  4. มีคราบน้ำมันซึมออกมาจากโช๊คอัพ

  5. ดอกยางสึกเป็นบั้งๆ ตามแนวขวาง เพราะความสามารถในการซับแรงกระแทกลดลง 


 
 

สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการโช๊คอัพเสื่อมสภาพ

    โช๊คอัพก็มีอายุการใช้งานที่จำกัดเหมือนกับชิ้นส่วนอื่นๆ ของมอเตอร์ไซค์ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5 ปี หรือระยะทาง 100,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ แต่ก็ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้โช๊คอัพเสื่อมสภาพเร็วกว่าอายุการใช้งานปกติ ดังนี้

  1. ซีลยางของโช๊คอัพเสื่อมสภาพ โดยอาจจะเสื่อมตามอายุการใช้งานหรือเสื่อมจากการที่ไม่ได้ใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นเวลานานก็ได้ เพราะทุกครั้งที่โช๊คทำงานแกนโช๊คจะนำเอาน้ำมันออกมาเล็กน้อยเพื่อช่วยหล่อลื่นซีลยางด้วย ดังนั้น หากคุณจอดมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานๆ ซีลยางก็อาจจะแข็งและเสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น ทำส่งผลให้เกิดปัญหาโช๊ครั่วตามมา

  2. การติดตั้งโช๊คอัพที่ผิดพลาด ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ระมัดระวังจากช่างที่ไม่ได้รับการอบรมมาโดยตรงหรือช่างที่ไม่มีประสบการณ์ก็อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้โช๊คอัพรั่ว หรือเสื่อมสภาพได้ เช่น การใช้คีมจับแกนโช๊ค ซึ่งจะส่งผลให้แกนโช๊คเป็นรอยและเสียดสีให้ซีลยางขาด หรือติดตั้งโช๊คอัพโดยที่องศาไม่ตรงกับจุดยึด ทำให้โช๊คอัพงอและซีลยางเสียหาย

  3. การใช้งานรถมอเตอร์ไซค์อย่างหนักเป็นประจำ เช่น บรรทุกหนักเกินเกณฑ์ที่รถมอเตอร์ไซค์จะรับได้ การขี่ด้วยความเร็วสูงหรือขี่บนเส้นทางที่มีทางโค้งต่อเนื่องบ่อยๆ และขี่บนเส้นทางที่ขรุขระ มีอุปสรรคเยอะ มีฝุ่น หิน ทรายเกาะติดแกนโช๊ค

  4. ไม่ดูแลความสะอาดแกนโช๊ครถมอเตอร์ไซค์ อาจทำให้มีฝุ่นและเศษดินเกาะติดที่แกนโช๊คอัพมากเกินไป และอาจหลุดเข้าไปภายในโช๊คอัพได้ 

 

 

วิธีแก้ไขโช๊คเสื่อมสภาพเบื้องต้น

    ถ้ามอเตอร์ไซค์ของคุณออกอาการชัดเจนแล้วว่าโช๊คอัพเสื่อมสภาพ หากเป็นไปได้ควรหยุดใช้งานจนกว่าจะเปลี่ยนโช๊คอัพใหม่ หรือหากจำเป็นต้องใช้งานควรขี่ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และควรหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ยากต่อการขับขี่ เช่น ทางขรุขระ ทางโค้ง และรีบเปลี่ยนโช๊คอัพให้เร็วที่สุด โดยข้อคำนึงเกี่ยวกับการเปลี่ยนโช๊คอัพ มีดังนี้

  1. ควรเปลี่ยนโช๊คอัพพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ในกรณีที่โช๊คอัพของรถจักรยานยนต์รุ่นดังกล่าว เป็นแบบคู่

  2. ไม่ควรดัดแปลงโช๊คอัพหรือใช้โช๊คอัพที่ไม่ได้ผลิตมาเพื่อรถมอเตอร์ไซค์รุ่นของคุณ


    ขอย้ำอีกครั้งว่าโช๊คอัพ เป็นชิ้นส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้ชิ้นส่วนอื่นๆ ของรถมอเตอร์ไซค์ ควรตรวจเช็กให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และเมื่อโช๊คอัพเสื่อมสภาพก็ควรเปลี่ยนโดยเลือกโช๊คอัพที่ได้มาตรฐานและตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองมากที่สุด

หรือจะเข้าไปสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ทุกสาขา ทั่วประเทศ